国立広島・長崎原爆死没者追悼平和祈念館 平和情報ネットワーク GLOBAL NETWORK JapaneaseEnglish
 
Select a language / ภาษาไทย (Thai・タイ語) / Memoirs(อ่านบันทึกประสบการณ์)
 
รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด 
ชิมาซากิ จิโร (SHIMASAKI Jiro) 
เพศ ชาย  อายุตอนที่ถูกระเบิด 14 
ปีที่เขียน 2007 
สถานที่ ณ ขณะเวลาที่ถูกระเบิด ฮิโรชิมา 
สถานที่เก็บ อาคารอนุสรณ์สันติภาพแห่งจังหวัดฮิโรชิมา เพื่อระลึกและไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต จากระเบิดปรมาณู 

● สภาพโดยทั่วไปในวันที่  6  สิงหาคม
ตอนนั้น  ผมขึ้นรถไฟจากไซโจ  แล้วมาต่อรถรางในเมือง โดยใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อไปทำงานร่วมกับเด็กนักเรียนคนอื่นที่โรงงานผลิตเครื่องจักรกล บริษัทอุตสาหกรรมหนัก มิซูบิชิจำกัด จังหวัดฮิโรชิมา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลมินามิ คันนอง  ผมมีพี่น้อง 5 คน ผมเป็นคนที่ 4 กล่าวคือผมมีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 2  คน และน้องสาว 1คน พี่ชายออกไปเป็นทหารที่กิวชู ส่วนผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนนิจู  ( โรงเรียนมัธยมต้นประจำจังหวัดฮิโรชิมาไดนิจู ) ตั้งแต่ผมขึ้นชั้นมัธยมที่ 2 ไม่เคยมีการเรียนการสอนเลย  ผมถูกส่งไปตามโรงงานทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.1944 ผมได้เข้าทำงานที่โรงงานมิตซูบิชิ คันนอง  

วันที่ 6 สิงหาคม ระเบิดปรมาณูระเบิดระหว่างทางที่ผมและเพื่อนนักเรียน 4-5 คน กำลังมุ่งหน้าไปที่โรงงาน ตอนนั้นคิดว่าผมคงอยู่ใกล้ๆกับสนามเอนกประสงค์ ตำบลมินามิคันนอง ห่างจากจุดระเบิด  4  กิโลเมตร เช้านั้น ถ้าผมขึ้นรถรางช้าไปอีกขบวน ณ เวลาที่ระเบิดปรมาณูระเบิด ผมคงจะอยู่ในรถราง และตายทันทีจากระเบิดที่สะพานไอโออิ  ผมรู้สึกว่า ผมรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว

ในวินาทีที่เกิดระเบิดปรมาณู มีแสงสว่างวาบมามาจากทางด้านหลัง  ผมจำได้ว่าร้อนที่คอ หลังจากนั้นก็มีลมปะทะแรงจัดที่เกิดจากแรงระเบิด  ผมล้มคว่ำ และหมดสติไปประมาณ 5 นาที เมื่อลืมตาขึ้น และกวาดสายตาไปรอบๆ   โรงงานซึ่งอยู่ห่างจากจุดระเบิด 4 กิโลเมตร เหลือแต่โครงเหล็ก หลังคาถูกลมพัดปลิวหายไปหมด

เกิดอะไรขึ้นนี่  โรงงานที่จะไประดมพลถูก B29  ทิ้งระเบิดกระมัง  ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ถูก B29 ทิ้งระเบิด แต่นั่นคงจะเป็นถังแก๊สที่
มินามิมะจิที่เกิดระเบิดขึ้นมาต่างหาก ความคิดเห็นในหมู่เพื่อนนักเรียนแตกต่างกันออกไป สัญญาณเตือนภัยน่าจะก็ถูกยกเลิกออกไปแล้ว   ตอน 8 โมง 15 นาที เป็นช่วงที่ปลอดภัย   ก่อน 8 โมงมีสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศ 1 ครั้ง แต่ก็เปลี่ยนเป็นสัญญาณระวัง  และสัญญาณนี้ได้ถูกยกเลิกไปตอนราวๆ 8 โมง 5 นาที  ไซเรนบอกยกเลิกนั้น ผมก็ได้ยิน

หลังจากนั้นก็มีคำสั่งออกมาว่า “ขอให้คนที่มาในวันนี้ กลับไปบ้านของตัวเองก่อนเนื่องจากตัวเมือง ถูกไฟไหม้ราบหมดทั้งเมือง”ท่ามกลางฝนดำที่ตกลงมา ผมมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านเอบะ โยชิจิมา จนถึงเซนดะ  ต่อไปทางด้านฮิจิยามา ข้ามสะพานมิยูกิ  ตอนที่ข้ามสะพานมิยูกิผมถูกคนหลายคนดึงที่ขา พร้อมกับพูดว่า “ ขอน้ำหน่อย  ขอน้ำหน่อย”ผมคิดว่าคนคงจะแค่บาดเจ็บเท่านั้น  เพราะผมยังคาดไม่ถึงว่าทำไมผู้คนมากมายจึงได้รับบาดเจ็บและถูกไฟลวก“พี่ชาย ขอน้ำ ขอน้ำ ผมบาดเจ็บ คอ.....”แม้จะถูกดึงขาขอน้ำ แต่ผมก็ได้แต่รู้สึกกลัว โชคดีที่ตอนที่เกิดระเบิดผมไม่ได้รับบาดเจ็บ  แต่เมื่อมีคนบาดเจ็บจำนวนมากอยู่ต่อหน้าต่อตา ผมได้แต่งงทำอะไรไม่ถูกเดินไปข้างหน้าท่าเดียว

ตอนที่ผมผ่านเชิงเขาฮิจิยามา  ผมจำภาพร่างกายที่แดงเถือกของทหารคนหนึ่งได้ ผิวหนังทั้งตัวของเขาหลุดห้อยลงมา แต่เขายังมีลมหายใจอยู่  ช่างเป็นสภาพที่โหดร้ายทารุณเหลือเกิน เขามองมาที่ผม ชี้นิ้วไปที่ศพ แล้วพูดว่า “ นี่ ฉันจะขนศพขึ้นรถเข็น  พี่ชายช่วยยกด้านขาหน่อย”แต่ผมกลัว และไม่สามารถทำได้  อาจจะเป็นเพราะว่าบริเวณเชิงเขาฮิจิยามานี้อยู่ห่างจากจุดระเบิดกระมัง คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง  และมีคนเป็นจำนวนมากช่วยกันขนศพ  ทหารคนนั้นคงจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วันต่อมา

ในที่สุดผมก็มาถึงสถานีไคตะในตอนดึก เวลากี่โมงผมไม่ทราบ ผมได้ข่าวว่าในตอนดึกวันนั้นอาจจะมีรถไฟออกจากไคตะไปทางไซโจ 1 ขบวน ผมคงจะรออยู่มากกว่าหนึ่งชั่วโมงกระมัง ในที่สุดก็ได้ขึ้นรถไฟ คนเบียดกันแน่นมาก รถไฟมาถึงไซโจ ท่ามกลางความมืดสนิทจนไม่รู้ว่าใครคือคนที่มารับ เนื่องจากเป็นสมัยที่มีการควบคุมแสงไฟ เป็นสมัยที่ไม่อนุญาตให้เปิดไฟ หรือจุดตะเกียงไฟ  เราได้ยินแต่เสียงคนที่มารับพูดว่า“แย่นะ ดูเหมือนว่าจะแย่มากทีเดียวล่ะ”โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร

● สภาพตั้งแต่วันที่ 7  เป็นต้นไป
ข่าวที่ว่าลุงของผมซึ่งทำงานอยู่ที่ฮิจิยามาถูกระเบิด ทำให้ป้ากับผมต้องเข้าไปที่ฮิโรชิมาด้วยกันเพื่อค้นหาลุง  วันที่ 7 เราออกจากบ้านกันตั้งแต่เช้าตรู่ไปที่อุจินะ ตามข่าวที่ว่าลุงผมถูกพาไปรวมไว้ที่นั่น เรานั่งรถบรรทุกเข้าไป หรือเข้าเมืองโดยวิธีใดผมจำไม่ค่อยได้ แต่โชคดีที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมต้นนิจูอยู่ 3  ปี ทำให้ผมรู้จักถนนหนทางในตัวเมืองดี  ผมเลยคิดว่าผมต้องมากับป้าเพื่อมาช่วยบอกทาง

เราพบลุงที่ค่ายกักกันอุจินะ  ผมจำได้ว่าค่ายกักกันนี้อยู่ใกล้กับท่าเรืออุจินะ เคยเป็นโกดังมาก่อน “อ๊ะ  คนนี้ เพิ่งหมดลมหายใจไปเดี๋ยวนี้เอง ช่วยกันหามออกไปเถอะ”ทหารพูดแล้วก็หามศพออกไปเรียงไว้ที่ระเบียงทางเดิน  “นี่ มีคนตาย  ช่วยยกด้านหัวหน่อย”เสียงทหารอีกคนบอกผม แต่ผมกลัว ไม่ได้ช่วยเขา คนอีก 2-3 คนเข้ามาช่วยกันหามคนตายออกไปไว้ที่ระเบียง  เด็กผู้หญิงสาวๆอายุราวๆ 20  ปี ก็ถูกไฟลวกไหม้ตัวดำปี๋ ถูกจับให้นอนเปลือยกายอยู่
 
จากอุจินะ เราพาลุงกลับไปที่บ้านที่ไซโจ หลังจากนั้น 3 วันคือวันที่ 10 สิงหาคม ลุงก็เสียชีวิต เราเผาศพลุงที่สถานฌาปนกิจศพใกล้บ้าน ผมก็ไปช่วยด้วย ส่วนป้า เสียชีวิตเมื่อ 2  ปีที่แล้ว ป้าใช้ชีวิตอยู่กับลุงได้เพียง 9  ปี

● ความเป็นอยู่ภายหลังที่ถูกระเบิด
โรงเรียนนิจูเปิดเรียนอีกครั้งราวๆปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายนกระมัง ที่คันนองตรงที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนถูกถมและสร้างเป็นห้องแถวเล็กๆขึ้น ผมจำได้ว่า เรานั่งหนาวตัวสั่นเรียนหนังสือกัน ท่ามกลางหิมะที่ตกลงมาอย่างไม่คิดฝัน ปราศจากเครื่องทำความอุ่นใดใดทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่กระจกหน้าต่าง  ก่อนที่จะกลับมาเรียนกันที่คันนองอีกครั้ง ทางโรงเรียนได้ไปขอยืมตึกเรียนของโรงเรียนสตรีประจำไคตะใช้บ้าง หรือไม่ก็ขอยืมโรงเรียนประถมเล็กๆที่ไม่ได้รับความเสียหายใช้ เพื่อเปิดสอนให้แก่เด็กนักเรียน
  
ผมเองต้องการเรียนต่อ ถ้าผมไม่ไปเรียนก็จะไม่ได้หน่วยกิต ผมจึงต้องทนหนาวไปเรียนหนังสือ  ถึงจะเป็นแค่ห้องแถวเล็กๆ แต่ก็ช่วยให้พวกเราได้เรียนหนังสือกัน แค่นี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะขอบคุณยังไงแล้ว ตามระบบเก่าเราจะสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมต้นปีที่ 5  ผมสำเร็จการศึกษาปีค.ศ. 1947 หลังจากนั้น ผมก็ไปเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีประจำจังหวัดฮิโรชิมาที่เซนดะมะจิ
 
หลังจากที่ผมจบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยี  ช่วงปีค.ศ. 1955 เป็นปีที่ปริมาณการใช้รถยนตร์ทั่วโลกเริ่มขยายตัว  ทำให้ผมคิดตั้งโรงเรียนสอนขับรถยนต์ ผมกับเพื่อนเริ่มจากการเอาพลั่วมาขุดทางวิ่งกันเองเลย ผมใช้หน่วยกิตที่ได้จากการเรียนในสถาบันเทคโนโลยีไปขอวุฒิบัตรเพื่อเป็นครูสอนภาคทฤษฎี และความชำนาญทางภาคปฏิบัติ   ผมทำงานที่โรงเรียนสอนขับรถยนต์ในเมืองในตำแหน่งหัวหน้าอาจารย์ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1960
 
ปีค.ศ. 1966 ผมลาออกจากโรงเรียนสอนขับรถยนต์ เพราะพี่ชายผมอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้านพักคนชรา และอยากให้ผมไปช่วย ผมเลยออกมาช่วยพี่ชายทำธุรกิจ พี่ชายผมเป็นถึงนายกสมาคมแพทย์ ผมภูมิใจในตัวพี่ชายผมมาก บ้านพักที่อยู่ไกลๆ เช่นที่มิยาจิมา และที่ยูกิ ผมจะเป็นคนขับรถพาพี่ชายซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปเอง  ผมต้องเป็นคนขับรถด้วยตัวเองเพราะคิดว่านั่นเป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำเพื่อช่วยพี่ชาย  เราพี่น้อง 2  คนช่วยกันทำธุรกิจมาด้วยกัน แต่พี่ชายผมต้องมาเสียชีวิตลงด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก ผมนอนไม่หลับอยู่ 3  วัน 3 คืน  พี่ชายผมตั้งหน้าตั้งตาเรียน ส่วนผมก็เป็นนักกีฬา  เรากอดคอทำร่วมกันมา  การที่พี่ชายผมต้องเสียชีวิตลงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างที่สุด 

● หน้าที่การงาน ชีวิตสมรส และผลสืบเนื่อง
อีกไม่เท่าไรก็จะครบ 50 ปีที่ผมกับภรรยา แต่งงานกันมา  ตอนแต่งงาน ผมไม่ได้บอกว่า ผมถูกระเบิดปรมาณู เพราะกลัวว่าจะถูก
กีดกัน แต่ผมตัดสินใจบอกกับภรรยาด้วยตัวเองว่า “ ฉันถูกระเบิดด้วยแต่ไม่มาก ตอนนั้นฉันทำงานอยู่ที่มิซูบิชิ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 5 กิโลเมตรที่สุดเขตมินามิคันนอง ฉันไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร”ภรรยาผมดูไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้ ลูกชายผมเป็นเภสัชกร มีความรู้ และรู้ว่าตัวเองเป็นลูกของผู้ที่ถูกระเบิดปรมาณู  เราเป็นกังวลตอนที่ลูกชายกับลูกสาวเกิด เราแอบตรวจสอบจนแน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดปรกติ
   
ผลสืบเนื่องที่ทำให้ผมเป็นห่วงก็คือ แม้เวลาจะผ่านไปถึง 10  ปีหลังจากที่ถูกระเบิด ที่บริเวณด้านหลังคอของผมมีปุ่มนูนเกิดขึ้น เขาบอกผมว่าเป็นเนื้องอกดี ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ก็เป็นก้อนปูดใหญ่ทีเดียว  บริเวณที่เกิดเนื้องอกคือบริเวณที่ถูกลำแสงจากด้านหลังตอนที่เกิดระเบิด  ผมเคยผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออกแล้ว แต่ 10 ปีให้หลังก็งอกขึ้นมาอีก แต่ระยะหลังนี้ ไม่มีเนื้องอกเกิดขึ้นมาอีกแล้ว นอกจากเรื่องนี้ อาการป่วยอื่นๆที่คิดกันว่ามีสาเหตุมาจากกัมมันตภาพรังสีก็มีเรื่องฟันที่จะเสื่อมเร็วกว่าคนอื่น อาการจะต่างกันไปแล้วแต่คน บางคนผมร่วง  แต่สำหรับผม ไม่ร่วง แต่ที่พูดได้ว่าจะเป็นเหมือนกันหมดทุกคนก็คือ คนที่ถูกระเบิดปรมาณูจะเหนื่อยง่าย ในทุกกรณี  ถึงจะทำงานเหมือนคนอื่นแต่จะเหนื่อยง่ายกว่า ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เจ้านายมองว่าขี้เกียจ และถูกเจ้านายดุว่า “  คนอื่นเขาทำงานแค่นี้ไม่เหนื่อย แต่คุณเหนื่อย ไม่ขี้เกียจไปหน่อยเหรอ   ” สำหรับในเรื่องงานแล้ว การเหนื่อยง่ายเป็นเรื่องเสียเปรียบ

● เพื่อสันติภาพ
การเล่าให้เด็กรุ่นใหม่ฟังว่าระเบิดปรมาณูคืออะไร สันติภาพคืออะไร ผมคิดว่าคนเล่าจะต้องมีวิธีในการเล่า ในชั่วพริบตาที่เกิดระเบิด พริบตาเดียวนั้นตึกพังทลาย พริบตาเดียวนั้นคนจำนวนมากเสียชีวิต การเล่าเรื่องนี้ต้องมีวิธีการ  การเล่า แค่คำพูดที่ว่า “แย่แล้ว แย่แล้ว ”หรือ “ความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ให้น้ำแก่คนที่มาขอ หรือการวิ่งหนีไปเฉยๆทั้งๆที่เห็นว่าไฟกำลังไหม้อยู่ใต้สะพาน”นั้น ผมคิดว่าไม่ได้ถ่ายทอดอะไรให้กับคนฟัง  หรือการบอกว่า“ มีอาคารเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่สวนสันติภาพ ไปดูซิ  มีต้นไม้สันติภาพด้วย ”เพียงแค่นี้ก็ไม่ได้เป็นการถ่ายทอดให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณของระเบิดปรมาณู   ดีไม่ดี อาจทำให้คนฟังคิดว่า ระเบิดปรมาณูไม่ได้ร้ายแรงอะไรเลยด้วยซ้ำ วันก่อนที่เกิดพายุทอร์นาโดขึ้นที่ฮอกไกโด มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผมเห็นภาพแล้วช่างเหมือนกับชั่วอึดใจนั้นของระเบิดปรมาณูมาก เป็นภาพที่รุนแรงดูแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์จริง ผมว่าแม้แต่เด็กเล็กภาพนั้นก็คงถ่ายทอดอะไรให้แก่พวกเขาบ้างเป็นแน่  ระเบิดปรมาณูก็เหมือนกัน น่าจะถ่ายทอดได้จากความหายนะต่างๆที่เกิดขึ้นตามความจริง การพังทลายแบบนั้น  การที่ไฟลุกไหม้ และมีคนเสียชีวิตถึง 200,000 คนในชั่วพริบตา

หลังจากที่เกิดระเบิดไม่นาน ช่างภาพอาชีพจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิ และอาซะฮิ ได้เข้าไปที่ฮิโรชิมา และถ่ายสภาพอันน่าเสร้าสลดออกมาหลายภาพ พวกเขาบอกว่า พวกเขาเคยไปสนามรบมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ก็พูดได้ว่า ไม่เคยมีสนามรบแห่งใดที่มีสภาพที่น่าสังเวช หดหู่เท่ากับระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาเลย ทำยังไงเราถึงจะถ่ายทอดสภาพที่น่าสมเพชเวทนานี้ออกมาได้ สำหรับตัวผม ผมคิดว่า คนเล่าจำเป็นต้องมีวิธีการเล่า

สุดท้ายนี้ ผมในฐานะนักเรียนนิจู นักเรียนรุ่นน้องผมเป็นจำนวนมากเสียชีวิตเพราะระเบิดปรมาณู  นอกจากนี้ ในระยะหลังเพื่อนรุ่นเดียวกันก็เสียชีวิตไปก็มี  พี่ชายคนเดียวก็เสียชีวิตไป ผมรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว  ปัจจุบันตัวผม ไปไหนมาไหนเองไม่ได้  ต้องให้ภรรยาดูแล ผมอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสัก 2 ปี เพื่อเล่าประสบการณ์ของตัวเองอย่างหมดเปลือก  สองอาทิตย์ครั้งก็ได้ ให้เด็กเล็กก็ได้ เด็กประถมก็ได้ฟัง ถ้าสิ่งนี้เป็นไปได้ ผมคิดว่าชีวิตในช่วงสุดท้ายของผมคงจะมีความสุขที่สุด

 
 

ห้ามนำรูปภาพหรือข้อความที่มีอยู่ในโฮมเพจนี้ไปลงหรือใช้ในที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
HOMEに戻る Top of page
Copyright(c) Hiroshima National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims
Copyright(c) Nagasaki National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims
All rights reserved. Unauthorized reproduction of photographs or articles on this website is strictly prohibited.
初めての方へ個人情報保護方針
日本語 英語 ハングル語 中国語 その他の言語