国立広島・長崎原爆死没者追悼平和祈念館 平和情報ネットワーク GLOBAL NETWORK JapaneaseEnglish
 
Select a language / ภาษาไทย (Thai・タイ語) / Memoirs(อ่านบันทึกประสบการณ์)
 
โ ช ค ดี แล้ ว น ะ 
มิยาจิ โตชิโอะ (MIYACHI Toshio) 
เพศ ชาย  อายุตอนที่ถูกระเบิด 27 
ปีที่เขียน 2009 
สถานที่ ณ ขณะเวลาที่ถูกระเบิด ฮิโรชิมา 
สถานที่เก็บ อาคารอนุสรณ์สันติภาพแห่งจังหวัดฮิโรชิมา เพื่อระลึกและไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต จากระเบิดปรมาณู 

● ความเป็นอยู่ในเวลานั้น
ผมเกิด ค.ศ. 1917(  ปีไทโชที่ 6 ) ที่หมู่บ้าน นากาโนะโชว อำเภอ มิตซึงิ ( ปัจจุบันคือ ตำบล อินโนชิมา นากาโนะโชวเมือง โอโน
มิจิ)  พ่อผมทำงานที่ไปรษณีย์ นากาโนะโชว  แม่ผมเป็นแม่บ้านทำงานบ้าน และทำไร่ปลูกผักล็กๆน้อยๆ ไปด้วย  ผมมีพี่สาว 3 คน ตัวผมเป็นลูกผู้ชายคนแรก และมีน้องชายที่อายุน้อยกว่าผม 2 ปีหนึ่งคน ค.ศ. 1924 ( ปีไทโชที่ 13 )  แม่คลอดน้องสาวอีกคนแต่เสียชีวิตทันที และหลังจากนั้นแม่ผมก็เสียชีวิตไปด้วย ผมกับพ่อสองคนอยู่ด้วยกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ค.ศ. 1939 ผมได้รับหมายเรียกตัว  ผมถูกส่งไปสังกัดที่กองร้อยที่ 5 กองทหารปืนใหญ่สนามที่ 5  ตลอดเวลา 3 ปีในฐานะหัวหน้าสังกัดกองทหารเล็กๆ  ผมไปร่วมสงครามที่ประเทศเวียตนาม  และหลายแห่งที่ประเทศจีน  หลังจากที่ออกจากราชการทหาร ผมไปทำงานที่ห้างสรรพสินค้ามารุกาชิ สาขาฮิการิ ที่ลูกพี่ลูกน้องผมประกอบกิจการอยู่  ค.ศ. 1943 ผมย้ายไปทำที่กิจการเหล็กมิยาจิ สาขา
ฮิการิ ที่ปู่ผมเป็นผู้ประกอบกิจการ ที่ผมย้ายงานก็เพราะเห็นว่าสำนักงานใหญ่อยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อ สะดวกในการที่จะไปดูแล  ผมแต่งงานช่วงที่ผมย้ายงาน ลูกชายคนโตเกิดเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1944

ผมถูกเรียกตัวครั้งที่ 2 เดือน เมษายน  ค.ศ. 1945   ตอนนั้น ผมให้ภรรยาและลูกอพยพไปอยู่ที่อิโนชิมา คราวนี้ผมก็ถูกส่งไปสังกัดที่กองทหารปืนใหญ่สนามที่ 5 อีกเช่นกัน แต่คราวนี้ผมทำงานเกี่ยวกับทะเบียนทหารที่เกี่ยวข้องกับกองบัญชาการกลาง กำลังทหารส่วนใหญ่จะถูกส่งไปตามที่ต่างๆเพื่อป้องกันภายในประเทศจึงมีทหารเหลืออยู่ที่กองบัญชาการกลางเพียงเล็กน้อย  ในบรรดานั้นทหารนายทะเบียนมีหน้าที่ทำสมุดรายชื่อทหาร และแจกจ่ายสมุดพกประจำตัวทหารเป็นหลัก  เราไม่ต้องฝึกทหาร

นายสิบโท โอคาดะ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาผมเกิดที่หมู่บ้านโคบาตะเคะ อำเภอ จินเซกิ ( ปัจจุบันคือ ตำบลจินเซกิ โคเง็น อำเภอจินเซกิ ) เป็นบุคคลที่น่านับถือ  เราแค่สองคนทำงานอยู่ในห้องเดียวกัน  แกรักและเอ็นดูผมมาก

เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945 มีการเปลี่ยนชื่อกองทหารมาเป็น กองหนุนทหารปืนใหญ่เขตจูโกกุ ( กองร้อยจูโกกุ  111  ) กองทหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของปราสาทฮิโรชิมา  ตึกโรงทหารสูงสองชั้นได้ถูกสร้างขึ้นประมาณ 4 – 5  หลัง ภายในคูปราสาท มีทหารสี่กองร้อยตั้งประจำอยู่ที่นี่

● สภาพก่อนถูกระเบิดปรมาณู
ผมคิดว่าเมื่อผมออกจากราชการทหารแล้ว  ผมจะกลับไปทำงานที่เก่า ทางด้านบริษัทก็ดูจะคิดเหมือนผม  เพราะประธานบริษัทมีจดหมายมาที่กองทหาร บอกว่า “ จะมีประชุมนัดแนะในเรื่องสำคัญ อยากให้มาที่เมืองฮิการิหน่อย ” สำหรับตัวผม แม้จะพูดได้ว่าเป็นบริษัทที่ผมเคยทำงานอยู่ แต่ก็เป็นญาติ ผมเกลียดที่จะถูกมองว่าใช้ธุรกิจเป็นข้ออ้างเพื่อขอลาหยุด  ผมเกรงใจและไม่ได้ขออนุญาตออกไปข้างนอก  ตอนนั้น สิบโท โอคาดะ พูดกับผมอย่างมีน้ำใจว่า “ ไม่ต้องห่วง  สบายใจได้ ผมจะขออนุญาตให้เอง  ”  ด้วยความกรุณานี้ ที่ทำให้ผมได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกเป็นพิเศษ  คือวันอาทิตย์ ที่ 5 สิงหาคม ไปที่เมืองฮิการิ รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ขึ้นรถไฟเที่ยวที่กำหนดจะมาถึงสถานีฮิโรชิมาตอน 9  โมงเช้า แล้วตรงกลับมาที่กองทหาร
     
วันที่ 6  สิงหาคม  ผมตื่นตี  4  ทานอาหารเช้า ไปขึ้นรถไฟที่สถานีฮิการิ เวลา 8 .15   นาฬิกา ตอนที่ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงมานั้
ผมคิดว่าผมคงอยู่บริเวณก่อนถึงสถานีอิวาคุนิ  อาจจะเป็นเพราะเสียงรถไฟวิ่งดังสนั่นอยู่ ทำให้ผมแทบจะไม่ได้ยินเสียงอะไรจากข้างนอก
เลย  เสียงระเบิดปรมาณู ผมก็ไม่ได้ยิน  แต่ผู้โดยสารพูดขึ้นว่า “ ท้องฟ้าที่ฮิโรชิมา มีกลุ่มควันก้อนใหญ่คล้ายลูกบันลูนลอยขึ้นมา”  แทบจะ
ในเวลาเดียวกันจากหน้าต่างด้านขวาทุกคนแหงนหน้าขึ้นมองไปในทิศทางเดียวกัน ประกาศในรถไฟก็ไม่มี  เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่
อย่างนั้น รถไฟก็ยังคงแล่นมาเรื่อยๆแบบนั้น และหยุดลงแบบกระทันหันที่สถานีอิตซึกาอิจิ  รถไฟคันหน้าก็หยุดอยู่กับที่ ผู้โดยสารทุกคน
ถูกสั่งให้ลงจากรถ เพราะรถไฟเข้าไปใกล้ฮิโรชิมาไม่ได้มากกว่านี้แล้ว ผมสัญญาว่า จะถึงสถานีฮิโรชิมาตอน  9 โมงเช้าและกลับเข้ากอง
ทหารทันที ผมได้แต่งุนงงไม่รู้จะทำยังไงดี
 
ที่หน้าสถานีอิตซึกาอิจิ หัวรถจักรคายควันสีดำออกมา ทำให้บริเวนนั้นมืดราวกับว่าเป็นเวลากลางคืน แค่พอมองเห็นคนเคลื่อนไหวลางๆ  สักพักเมื่อควันดำจางหายไป ผมก็สังเกตุเห็นว่ามีรถบรรทุกสารวัตรทหารจอดอยู่ใกล้ๆ  รู้สึกว่าเขาทำธุระเสร็จพอดี ผมร้องขอว่า “ ผมอยากกลับไปกองทหาร  ขอผมขึ้นรถไปจนถึงปราสาทฮิโรชิมาหน่อย ”เขาจึงตอบรับอย่างเต็มใจ เป็นสารวัตรทหารยศนายสิบตรีกับนายสิบโทที่มาด้วยกัน 2 คน เขาไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร แข็งแรงดี และไม่ได้ถูกระเบิดปรมาณูโดยตรง ตอนนี้ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ ผมอยากจะกล่าวขอบคุณพวกเขา

● สภาพเมืองหลังจากที่ถูกระเบิดปรมาณู
ผมจำไม่ได้แน่ว่า  จากอิซึกาอิจิ มาฮิโรชิมาผมเข้ามาตามทางสายใด แต่คิดว่าผมคงจะวิ่งมาตามถนนกลางทุ่งนา ซึ่งต่อมาผู้คนที่หนีภัยก็ได้ใช้ถนนเส้นนั้นเป็นทางหลบหนีออกมากันเป็นจำนวนมาก  หลังจากที่เข้าไปภายในตัวเมืองฮิโรชิมาแล้ว เราวิ่งไปตามเส้นทางรถราง แต่ทว่าภายในตัวเมืองไม่มีสัญญาณบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย ไม่เห็นแม้แต่หมา แมว นี่เป็นเพราะว่าทุกคนได้หลบหนีออกไปหมดแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ

ผมขอให้สารวัตรทหารพาไปที่ปราสาทฮิโรชิมา แต่ผมถูกไล่ลงก่อนถึงสะพานไอโออิเล็กน้อย  ระยะทางจากสะพานไอโออิไปที่กองทหารใกล้กันแค่เอื้อม  ผมจึงคิดว่าจะเดินไป  แต่ถนนถูกเผาร้อนมาก เดินไม่ได้  ผมจะใช้สนับแข้งพันรอบรองเท้าบูทผูกเชือกของผม แต่ก็เดินต่อไปได้ไม่ถึงหนึ่งเมตร  ผมเลยต้องหยุดยืนอยู่ตรงหน้าสะพานไอโออินั่นเอง
   
ที่สะพานไอโออิ ระหว่างที่ผมเดินหน้าไปได้สัก 50  เซนติเมตร  ผมถอยหลังกลับ 50  เซนติเมตร สลับกันอยู่อย่างนี้จนคิดว่าเวลาคงจะผ่านไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทันใดนั้น  สายฝนเริ่มตกลงมาอย่างหนักเหมือนสายเข็มที่ตกลงมาทิ่มผิวหนัง  สีดำของฝนทำให้บริเวณรอบๆแลดูเหมือนกับเอาน้ำมันมาราด แต่เมื่อเอามือลองเช็ดหน้าที่เปียกดู กลับไม่รู้สึกมันเหมือนน้ำมันแต่อย่างใด บริเวณนั้นถูกเผาจนเป็นทุ่งโล่งเตียน  ไม่มีแม้แต่ที่จะหลบฝน ผมเปียกโชกทั้งตัว ได้แต่รอให้ฝนหยุด

พอฝนหยุด ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด อากาศกลับเย็นขึ้น เหมือนฤดูใบไม้ร่วง ต่างไปจากสภาพก่อนฝนตกโดยสิ้นเชิง ถนนที่ร้อนจัดก็ถูกน้ำฝนแช่ให้เย็น  ทำให้ใช้เดินได้อีก

พอกลับไปดูที่กองทหาร ตึกโรงทหารอยู่ในสภาพที่น่าสังเวชใจเป็นที่สุด ตึกทั้งหลังพังกระจัดกระจายเป็นเสี่ยงๆ ถูกเผาไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน   แถมยังถูกน้ำฝนชะพัดหายไปจนหมดเกลี้ยงเหมือนกับว่าไม่เคยมีอะไรอยู่ที่นั่นมาก่อน

สิบโทโอคาดะ ถูกไฟเผาทั้งตัว อาการร่อแร่ แต่ยังมีลมหายใจอยู่  คนที่ถูกไฟคลอกจะมีลักษณะหน้าตาเปลี่ยนไป  ผมจำสิบโทโอคาดะไม่ได้ แต่สิบโทโอคาดะเป็นฝ่ายพูดขึ้นมาว่า “ มิยาจิ  โชคดีแล้วนะ ” จึงทำให้ผมทราบว่าเขาคือสิบโทโอคาดะ  ผมแยกไปครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาที่นั่นในตอนเย็นอีกครั้ง สิบโทโอคาดะไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว  แกคงจะถูกหามไปที่ไหนสักแห่ง

ผมจำได้ไม่แน่นอน  คิดว่าคงจะเป็นวันที่ 6 สิงหาคม   ทันทีหลังจากที่ฝนดำหยุดตก  ผมพบนายพลเอก ฮาตะ  ชุงโรคุ แห่งกองบัญชาการทหารบก ที่ 2   นายทหารผู้ช่วยที่ติดตามมาซึ่งอยู่ข้างๆได้ออกคำสั่งกับผมว่า “ จงแบกท่านนายพลฮาตะ ขึ้นหลัง ข้ามแม่น้ำเทมมะไป อย่าให้ท่านเปียกนะ ”  ท่านนายพลเป็นคนร่างเล็กเตี้ย ผมจึงแบกท่านข้ามแม่น้ำไปได้ตามคำสั่ง โดยไม่รู้สึกหนักเลย

● การปฏิบัติการช่วยเหลือ
ทหารที่รอดตายจากระเบิดปรมาณูประมาณ 90 นายได้ไปรวมตัวกันสนามด้านทิศตะวันตก  พวกเขาได้รับหน้าที่ให้เผาศพผู้เสียชีวิตซึ่งมีจำนวนมากมายก่ายกอง  เมื่อวานนี้  250 ราย   วันนี้  300  ราย

ระหว่างทำงาน ภาพที่ติดตาผมคือ ภาพศพทหารอเมริกัน 2 นายที่ล้มกลิ้งอยู่ที่บันไดปราสาทฮิโรชิมา เวลานั้น มีเชลยศึกอเมริกัน2 คนถูกจับมาไว้ที่ตึกใกล้ๆปราสาทฮิโรชิมา ผมคิดว่าคงจะเป็นเชลยศึก  2  คนนั้นเอง
      
ในวันที่ 6  สิงหาคมนั้น  พวกเราไม่มีอาหารกิน  ผมพาทหารใต้บังคับบัญชา 30 นาย  ไปที่ที่ว่าการอำเภอเพื่อเจรจาต่อรองขอรับขนมปังแห้ง  แต่ผิดความคาดหมาย ผมกลับไปทะเลาะกับอำเภอ ขอรับขนมปังแห้งไม่ได้ ในวันนั้นเราจึงเอาน้ำตาลละลายในน้ำร้อนดื่มแก้หิวไปอย่างช่วยไม่ได้  หลังจากวันที่  7 สิงหาคม เราได้รับแจกข้าวปั้น และขนมปังแห้งจากหน่วยช่วยเหลือที่มาจากนอกเมือง

เราได้ออกปฏิบัติหน้าที่กู้ภัยติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงปลายเดือนสิงหาคม  ระหว่างนั้นเราต้องนอนกันอยู่กลางแจ้งโดยตลอด

ในที่สุด  ก็มีคำสั่งยุบกองทหารในวันที่  31 สิงหาคม  ตอนที่ประกาศยุบก็มีการนำเอาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่เหลืออยู่ในโกดังทหารมาแจกจ่ายให้กับทหาร  ผมได้เสื้อผ้าทหาร และผ้าห่ม  บางคนที่มาจากครอบครัวชาวนาได้รับแจกม้า บางคนก็ขี่ม้านี้กลับบ้าน
  
วันที่ 1 กันยายน ผมขึ้นเรือที่มารับจากท่าเรืออิโตซากิ กลับอิโนชิมา

● การป่วย
หลังจากที่กลับไปที่อิโนชิมาได้ประมาณ 2 เดือน ขณะที่ถ่ายปัสสาวะอยู่กลางทุ่งนา ผมตกใจเพราะมีปัสสาวะสีน้ำตาลออกมาประมาณ 1.8 ลิตร หลังจากนั้น ผมก็ยังปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลอยู่ นอกจากนั้น ในปีต่อมาผมเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้  หลังจากนั้น ผมมีอาการเจ็บที่ตับต้องเข้าโรงพยาบาลอีก ค.ศ. 1998 ผมเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ ปัจจุบันผมก็ยังรักษาตัวตัวอยู่

ผมได้รับสมุดพกประจำตัวผู้ถูกระเบิดปรมาณู  เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1960 ก่อนที่จะขอรับสมุดพก  ผมรู้สึกลังเลใจเพราะไม่รู้ว่าควรจะขอดีหรือไม่ ทางอำเภอก็แนะนำผมให้ขอ ผมก็เลยทำเรื่องขอรับสมุดพกเอาไว้ หลังจากนั้น ทุกครั้งที่ผมป่วยและคิดว่ามีสาเหตุมาจากรังสีปรมาณู  ผมคิดว่าโชคดีที่รับสมุดพกไว้

● การดำเนินชีวิตหลังสงคราม
หลังสงคราม   ผมเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดที่อิโนชิมา เนื่องจากเป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ดในบ้านนอก  ไม่เพียงแต่ขายสินค้าประเภทอาหารเท่านั้น ยังขายข้าวสาร ข้าวสาลี น้ำมัน ภายหลังก็ยังนำเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมาขายด้วย แม้จะไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย  แต่ผมก็หาทางส่งให้ลูกได้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย
 
ลูกสาวคนโตผมเกิด  ค.ศ. 1946  แต่ทั้งแม่และลูกเสียชีวิตทันที  ผมแต่งงานกับภรรยาคนปัจจุบันในปี ค.ศ. 1947   มีลูกชายคนที่สอง  คนที่สาม  และลูกสาวคนที่สอง  ลูกที่เกิดหลังสงครามทุกคนอ่อนแอ ผมเป็นห่วงคิดว่าอาจเป็นเพราะได้รับผลจากผมที่ถูกกัมมันตภาพรังสี  รู้สึกว่าภรรยาผมจะเป็นห่วงลูกสาวคนที่สอง เธอไม่ให้บอกว่าเป็นลูกของผู้ที่ถูกระเบิดปรมาณู เพราะกลัวว่าจะถูกปฏิเสธการแต่งงาน

 
● เกี่ยวกับผู้บังคับบัญชาที่ถูกระเบิดปรมาณูเสียชีวิต
ถ้าสงครามยังคงดำเนินอยู่ต่อไปแบบนั้น ผมคิดว่าประเทศญี่ปุ่นคงอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก ผมคิดว่าสันติภาพที่เรามีอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะคนจำนวนมากได้เสียสละชีวิตให้ 

ผมไม่ได้ถูกระเบิดโดยตรง และมีชีวิตรอดอยู่ได้ เพราะความมีน้ำใจของสิบโทโอคาดะในตอนนั้นที่ขออนุญาตให้ผมได้ออกมาข้างนอก วันที่ 6 สิงหาคมตอนที่พบกันนั้น คำกล่าวที่สิบโทพูดว่า “  มิยาจิ  โชคดีแล้วนะ ” เป็นคำพูดสุดท้ายที่สิบโทได้ทิ้งเอาไว้ ผมสะกิดใจมาตลอด “ผมจะต้องขอบคุณสิบโทโอคาดะให้ได้” ลูกผมเข้าใจความรู้สึกนี้ของผมดี  พวกเขาช่วยกันสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต  และได้โทรศัพท์ไปที่วัดแต่ละแห่ง  เพื่อค้นหาที่ตั้งสุสานของสิบโทโอคาดะให้ผม

ปีค.ศ. 2007  พวกเราได้ไปไหว้เคารพสุสานของสิบโทโอคาดะกันทั้งครอบครัว ผมได้กล่าวคำขอบคุณและสามารถยกภูเขาออกจากอกได้ในที่สุด

 
 

ห้ามนำรูปภาพหรือข้อความที่มีอยู่ในโฮมเพจนี้ไปลงหรือใช้ในที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
HOMEに戻る Top of page
Copyright(c) Hiroshima National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims
Copyright(c) Nagasaki National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims
All rights reserved. Unauthorized reproduction of photographs or articles on this website is strictly prohibited.
初めての方へ個人情報保護方針
日本語 英語 ハングル語 中国語 その他の言語