国立広島・長崎原爆死没者追悼平和祈念館 平和情報ネットワーク GLOBAL NETWORK JapaneaseEnglish
 
Select a language / ภาษาไทย (Thai・タイ語) / Memoirs(อ่านบันทึกประสบการณ์)
 
แผลแห่งสงครามที่ไม่เลือนหาย 
ฟุจิเอะ เคียวโกะ (FUJIE Kyoko) 
เพศ หญิง  อายุตอนที่ถูกระเบิด
ปีที่เขียน 2010 
สถานที่ ณ ขณะเวลาที่ถูกระเบิด ฮิโรชิมา 
สถานที่เก็บ อาคารอนุสรณ์สันติภาพแห่งจังหวัดฮิโรชิมา เพื่อระลึกและไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต จากระเบิดปรมาณู 

●สภาพการณ์ก่อนถูกระเบิดปรมาณู
ในช่วงนั้น ฉันเป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ของโรงเรียนประถมศึกษาอูนาจิค่ะ ในขณะนั้น บิดามีอายุ 41 ปี  สังกัดกองบัญชาการยานนาวากองทัพบก ช่วงระยะเวลาส่วนใหญ่ของ 1ปีมักจะนั่งเรือสำหรับกองทัพไปยังแผ่นดินของต่างประเทศ ซึ่งครึ่งปีถึงจะกลับมาที่บ้านที่อูนาจิมาจิ (ปัจจุบันคือ เมืองฮิโรชิมา เขตมินามิ) สักครั้งหนึ่งเท่านั้น ในขณะนั้นมารดามีอายุ 31 ปี และเนื่องจากเป็นนางผดุงครรภ์ จึงทำให้แม้ว่าในเมืองจะเกิดอันตรายก็ไม่อาจอพยพหลบภัยสงครามได้เพราะว่ามีผู้ป่วยอยู่นั่นเอง และยังมีน้องสาวอายุ 1 ขวบกับ 5 เดือนและคุณย่าฝ่ายพ่อที่มีอายุ 80 ปีอยู่ที่บ้านด้วย  และเนื่องจากลุงที่ทำธุรกิจอู่ต่อเรืออยู่ที่คาบสมุทรเกาหลีประสงค์ที่จะส่งลูกชายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนของญี่ปุ่นจึงได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านของฉันซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องด้วย

●ความทรงจำของการอพยพหลบภัยสงครามตอนเด็กประถม
ประมาณเดือนเมษายนของปีโชวะ 20 นักเรียนประถมตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 3 จนถึงชั้นประถมปีที่ 6 ของโรงเรียนประถมศึกษาอูนาจินั้น ถูกแยกกระจายให้อพยพหลบภัยสงครามไปตามสถานที่ต่างๆที่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด ได้แก่ มิโยชิโจ หมู่บ้านซากุหงิ และหมู่บ้านฟุโนะ (ปัจจุบันคือเมืองมิโยชิ) ส่วนฉันต้องไปอยู่ที่วัดโจจุนจิที่มิโยชิโจ

อาหารภายในวัดก็มีแต่ถั่วเหลืองเท่านั้น ส่วนข้าวสวยนั้นก็มีเพียงที่ติดอยู่บนถั่วเหลืองเท่านั้น อาหารว่างก็เป็นถั่วเหลือเหมือนกันค่ะ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่ข้าวปั้นซึ่งเป็นอาหารกล่องที่จะให้ลูกชายที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นของทางวัดหายไป พวกเราที่เป็นเด็กประถมผู้อพยพหลบภัยสงครามทั้งหมดต้องถูกสั่งให้ไปนั่งในอุโบสถของวัดและถูกถามว่า “คนที่เอาไป สารภาพออกมาซะ”

ใกล้กับวัดนั้นมีสะพานขนาดใหญ่ที่ชื่อสะพานโทโมเอะ และด้านข้างก็จะมีศาลเจ้าตั้งอยู่ค่ะ ที่นั่นก็จะมีต้นซากุระขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้วย และมีลูกซากุระติดอยู่ด้วยค่ะ นักเรียนรุ่นพี่ก็ปีนต้นไม้แล้วก็เด็ดลูกซากุระกินกันด้วยค่ะ ฉันที่ไม่รู้เรื่องอะไรก็ถูกรุ่นพี่เรียกให้มายืนใต้ต้นไม้โดยหันหน้าออกไปด้านนอก เพื่อให้ทำหน้าที่เฝ้ายาม ในทันใดนั้น ก็มีคุณลุงตะโกนออกมา พร้อมกับจับตัวของฉันเอาไว้ แล้วก็มองขึ้นไปข้างบนต้นไม้และพูดว่า “ลงมาทั้งหมด” ทำให้พวกรุ่นพี่ก็ลงมาด้วย คุณลุงได้ถามฉันที่ถูกจับมือและกำลังร้องไห้อยู่ว่า “เป็นเด็กที่ไหน” ฉันจึงตอบไปว่า “วัดโจจุนจิค่ะ” คุณลุงก็พูดว่า “เอาล่ะ” แล้วก็ปล่อยมือจากฉัน  และคุณลุงได้บอกว่า “ใต้ต้นนี้ ได้ปลูกหัวหอมและอีกหลายอย่างอยู่น่ะ ถ้าเหยียบก็จะทำให้กินไม่ได้น่ะสิ ห้ามทำเรื่องแบบนี้อย่างเด็ดขาดเลยนะ หยุดร้องไห้ได้แล้วนะ” ตอนเย็นของวันนั้นคุณลุงคนนั้นก็ยังนำมันนึ่งกับของกินต่างๆมาส่งให้กับพวกฉันอีกด้วยค่ะ ถึงแม้ว่าจะน่ากลัวแต่ก็คิดว่าเป็นคุณลุงที่ใจดีน่ะค่ะ คงคิดว่าพวกเราคงจะหิวก็เลยแอบเก็บลูกซากุระกินกัน ก็เลยรู้สึกสงสารน่ะค่ะ

ที่สถานที่อพยพหลบภัยสงครามนั้น บางครั้งก็จะมีพวกขนมถูกส่งมาจากพ่อแม่ของเด็กด้วยค่ะ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่มีวันที่จะเข้าถึงปากของพวกเราได้เลยค่ะ มารดาของฉันเองก็เอาลูกกวาดหุ้มถั่วเหลืองส่งมาให้เหมือนกัน แต่ก็ต้องถูกครูริบเอาไว้ทั้งหมด พวกรุ่นพี่สงสัยกันว่า ทั้งหมดได้เข้าไปอยู่ในท้องของครูหมดแล้วหรือเปล่านะ 
เหาก็ขึ้นเยอะมากจนลำบากมากเลยน่ะค่ะ ต้องกางหนังสือพิมพ์ออกแล้วก็เอามือสางบนนั้น พวกเราช่วยกันบี้เหาที่ดูดเลือดจนตัวดำกันด้วยค่ะ เสื้อเชิ้ตที่สวมอยู่นั้นก็นำไปกางออกและตากที่เฉลียงของวัดที่แดดส่องถึง

●วันที่ 6 สิงหาคม
บิดาได้กลับมาจากแผ่นดินของต่างประเทศ 1 สัปดาห์ก่อนการทิ้งระเบิดปรมาณูพอดี ฉันจึงรีบร้อนกลับบ้านด้วยเหมือนกันค่ะ และมีกำหนดที่จะต้องกลับไปที่สถานที่อพยพหลบภัยสงครามในวันที่ 5 สิงหาคมด้วยแต่ไม่สามารถจองตั๋วรถไฟได้ จึงได้เปลี่ยนไปเป็นวันที่ 6 แทน

ช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม มารดาได้แบกน้องสาวแล้วก็มาส่งฉันที่สถานีฮิโรชิมา แต่พอดีมีคุณยายที่อยู่แถวบ้านบอกว่าอยากจะไปเยี่ยมหลานที่อพยพหลบภัยสงครามอยู่ที่มิโยชิจึงได้นั่งรถไฟไปกับฉันด้วย หลังจากที่ได้ขึ้นรถไฟสายเกอิบิและนั่งหันหลังให้กับทิศทางที่จะไปมิโยชิซึ่งเป็นทิศทางที่รถไฟกำลังแล่นไป ก็มองเห็นร่มชูชีพ 3 ชุดก่อนที่จะเข้าอุโมงค์แรก และรถไฟก็เข้าอุโมงค์ไป ทันใดนั้นก็เกิดการระเบิดขึ้นมาน่ะค่ะ

เป็นการโจมตีอย่างกะทันหันที่รุนแรงมาก มันกระแทกเข้ามาที่หูเลยล่ะค่ะ เนื่องจากฉันนั่งอยู่จึงไม่เป็นอะไรแต่สำหรับคนที่ยืนอยู่นั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็กลิ้งหกล้มไปด้านหลังด้วยน่ะค่ะ  รู้สึกว่าหูจะไม่ค่อยได้ยินเหมือนมีก้อนหินมาปิดรูหูอยู่น่ะค่ะ

เมื่อออกจากอุโมงค์ ก็ได้เห็นควันของระเบิดปรมาณูที่สวยที่สุดด้วยน่ะค่ะ คุณยายที่อยู่ด้วยกันก็ยังดูและพูดออกมาว่า “โห สุดยอดเลยนะ” เป็นเด็กนี่คะ จึงคาดไม่ถึงหรอกว่าฮิโรชิมาในตอนนั้น เป็นอย่างไรแล้ว
เมื่อไปถึงมิโยชิ คุณยายบอกว่า “ข่าววิทยุบอกว่า ฮิโรชิมาพินาศหมดสิ้นแล้ว”  แต่ก็ยังคงไม่รู้สภาพการณ์ในเวลานั้น ช่วงบ่ายก็ยังต้องไปโรงเรียนเพื่อเด็ดหญ้า และนั่นเป็นครั้งแรกที่มีรถบรรทุกที่ขนผู้เคราะห์ร้ายของฮิโรชิมาเข้ามาที่โรงเรียน มีคนจำนวนมากที่ได้รับบาดแผลไฟไหม้อย่างหนักทยอยลงมาจากรถบรรทุก ทำให้ฉันรู้สึกตกใจเลยน่ะค่ะ คนที่มีแผลไฟไหม้ที่ใบหน้าจนทำให้ผิวหนังห้อยลงมาจากแก้มและเอาฝ่ามือไปปิดเอาไว้ ผู้หญิงที่เต้านมฉีกขาดทั้งหมด คนที่เดินโซเซโดยถือไม้กวาดที่ทำจากไม้ไผ่กลับด้านเพื่อใช้แทนไม้เท้า ภาพที่เห็นในวันนั้น จนบัดนี้ก็ไม่มีทางลืมได้เลยค่ะ อย่าว่าแต่น่ากลัวเลย มันทำให้รู้สึกตกใจมากกว่าค่ะ

●สภาพการณ์ที่ถูกระเบิดของครอบครัว
ผ่านไปประมาณ 3 วันหลังจากโดนทิ้งระเบิดปรมาณู ก็ได้รับการติดต่อจากครอบครัวที่ฮิโรชิมามาถึงที่วัด หลังจากนั้นประมาณวันที่ 12 หรือ 13 สิงหาคม ก็ได้นั่งรถไฟกับโนบุจัง ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายที่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 และเป็นเพื่อนบ้านกลับไปที่ฮิโรชิมาด้วยกัน ที่สถานีที่ฮิโรชิมานั้นมีบิดามารอรับอยู่ บิดากับฉันได้ใช้เส้นทางด้านข้างของภูเขาฮิจิเดินกลับไปที่บ้าน จำได้ว่าในระหว่างทางบิดาได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับสภาพของครอบครัวและพูดอีกด้วยว่า “นับจากนี้ไป 70 ปีจะปลูกต้นไม้ใบหญ้าไม่ขึ้น”

เมื่อกลับไปถึงบ้าน สภาพของมารดาก็คือถูกห่อหุ้มด้วยผ้าปูที่นอนทั่วร่างกายอยู่ เนื่องจากไฟไหม้ทั่วทั้งร่างกายทำให้มีหนอนเกิดขึ้นจากแผลไฟไหม้จึงต้องเอาผ้าปูที่นอนมาห่อหุ้มเอาไว้น่ะค่ะ น้องสาวเองก็มีแผลไฟไหม้ทั่วทั้งใบหน้าและไหม้เกรียมจนดำเหมือนกันค่ะ มือเท้าก็เป็นแผลไฟไหม้ที่รุนแรงและถูกห่อหุ้มด้วยผ้าปูที่นอนด้วยค่ะ น้องสาวที่ยังเป็นเด็กอยู่นั้นก็มองดูสภาพของมารดาก็เอาแต่ร้องไห้เพราะความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาด้วยค่ะ

ตอนที่โดนทิ้งระเบิดปรมาณูนั้น มารดากับน้องสาวกำลังรอรถไฟอยู่ที่สถานีรถไฟชื่อสะพานเอนโกวอยู่พอดี  เมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนหน้าซึ่งเป็นตอนที่มีประกาศสัญญาณเตือนภัยนั้น มารดาได้มอบผ้าคลุมศีรษะเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศของตัวเองให้กับคุณยายที่เป็นเพื่อนบ้านที่ลืมเอาผ้าคลุมศีรษะเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศมา ทำให้มารดาได้รับแสงระเบิดปรมาณูเข้าอย่างจัง ส่วนน้องสาวนั้น ถูกมาราดาแบกอยู่บนหลัง ทำให้เกิดแผลไฟไหม้ตรงที่ขาซ้ายกับมือซ้ายและใบหน้า มารดาได้นำน้องสาวลงจากหลัง และนำน้องสาวไปแช่น้ำที่มีไว้เพื่อใช้ดับเพลิงที่มีอยู่ตามที่ต่างๆในระหว่างทางพร้อมกับหนีไปด้วย  และก็ได้ไปหลบภัยอยู่ที่สถานที่ฝึกทหารตะวันออกที่อยู่ด้านหลังของสถานีรถไฟฮิโรชิม่า

คุณย่านั้นโดนระเบิดที่บ้าน ถึงแม้ว่าบ้านจะไม่ได้ถูกไฟไหม้แต่อาคารค่อนข้างจะได้รับความเสียหายมากพอสมควร

บิดากับลูกพี่ลูกน้องนั้น ต้องใช้เวลาถึง 2 วันเต็มๆในการเดินออกตามหามารดากับน้องสาวในเมือง  ซึ่งตอนที่พบนั้นร่างกายของมารดาบวมขึ้นมามากจากบาดแผลไฟไหม้จนแทบจะดูไม่ออกเลยว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ในวันที่ 6 สิงหาคมนั้น บังเอิญมารดาได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าสำหรับตัดเสื้อสากลที่บิดาส่งมาให้จากแผ่นดินของต่างประเทศออกไปพอดี และมารดาก็ได้เอาเศษส่วนปลายของเสื้อที่ไหม้ไม่หมดมาผูกติดกับมือของน้องสาวเอาไว้ได้อย่างหวุดหวิดเพื่อจะได้เป็นจุดสังเกตด้วยค่ะ ตอนที่บิดากับลูกพี่ลูกน้องมาตามหานั้น น้องสาวที่มีอายุ 1 ขวบก็สังเกตเห็นลูกพี่ลูกน้องจึงตะโกนเรียกว่า “อาจัง” และมองเห็นผ้าที่มือของน้องสาวจนทำให้หา 2 คนพบได้ในที่สุด มารดาพูดว่า “ฉันคงไม่ไหวแล้ว ขอให้พาเด็กกลับไปคนเดียวเถอะนะคะ” แต่บิดาก็นำ 2 คนขึ้นบนรถลากแล้วก็พากลับไปที่บ้าน

●การตายของมารดา
มารดาได้เสียชีวิตลงในวันที่ 15 สิงหาคม สำหรับศพนั้น บิดาได้ใช้ไม้เก่าๆทำโลงศพที่ไม่มีฝาปิดขึ้นมาแบบง่ายๆ และนำไปเผาในที่ดินว่างที่อยู่ด้านหลังของบ้าน ซึ่งที่นั่นเป็นสถานที่ที่ทุกๆคนจะนำศพไปเผากัน ทำให้กลิ่นโชยเข้ามาภายในบ้าน จนรู้สึกเหม็นจนทนไม่ไหวเลยค่ะ

คำพูดของมารดาที่พูดเอาไว้ในวาระสุดท้ายก็คือ “คุณแม่(มารดาของสามี)คะ อยากจะกินมันฝรั่งลูกใหญ่ๆจังเลยค่ะ” เนื่องจากในระหว่างสงครามนั้นเกิดการขาดแคลนอาหาร จึงต้องนำเอาเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆกลับไปที่ต่างจังหวัดเพื่อแลกกับอาหารจำพวกมันฝรั่งกันน่ะค่ะ มารดาคงจะเลือกกินแต่เฉพาะมันฝรั่งลูกเล็กๆที่แลกกับสิ่งของต่างๆมาได้น่ะค่ะ มันฝรั่งที่ลูกเล็กนั้น มีรสชาติที่หยาบจนทำให้รู้สึกแสบคอมาก ซึ่งเป็นยุคนี้คงกินกันไม่ลงเลยล่ะค่ะ

ฉันจะต้องมาลอยโคมไฟทุกๆปีเพื่อเป็นการทำบุญให้กับมารดาน่ะค่ะ โดยจะนำมันฝรั่งลูกใหญ่ๆที่ต้มแล้วมาถวายด้วยค่ะ แม้แต่ตอนนี้ พอเห็นมันฝรั่งลูกใหญ่ๆทีไร ก็นึกอยากจะให้มารดาได้กินทุกทีเลยค่ะ

●สภาพของเมืองหลังสงคราม
ตลิ่งด้านบนของโรงเรียนประถมศึกษาอูนาจินั้นมีบริเวณที่กว้างจึงถูกนำมาใช้เป็นสถานที่เผา โดยมีการล้อมรั้วด้วยแผ่นสังกะสีขึ้นมาแบบง่ายๆเพื่อจะนำศพมาเผาน่ะค่ะ ที่แผ่นสังกะสีนั้นได้ถูกเจาะรูในตำแหน่งหัวเอาไว้ด้วยค่ะ พวกเราที่เป็นเด็กๆนั้นจะต้องเดินผ่านจุดที่อยู่ใกล้กับศพที่กำลังถูกเผาอยู่เพื่อไปว่ายน้ำที่ทะเลกันด้วยค่ะ ทำให้อดที่จะคิดไม่ได้ว่า “เอ๊ะ ตอนนี้ ส่วนหัวกำลังไหม้อยู่นี่”บ้าง และยังจะต้องเดินผ่านไปด้วยการเหยียบกระดูกจำนวนมากอีกด้วยค่ะ คิดว่าที่บริเวณแถวนี้น่าจะถูกใช้เป็นสถานที่เผาศพจนกระทั่งฉันอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 นะคะ

หลังสงครามนั้น ช่างเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสมเพชและน่าสงสารจริงๆเลยนะคะ แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นกับบ้านของตัวเองเท่านั้น แต่เวลานั้นทุกๆคนก็มีชีวิตแบบเดียวกันนี้เหมือนกันค่ะ

●หลังสงครามของน้องสาว
น้องสาวที่โดนระเบิดพร้อมกับมารดานั้นมีชีวิตรอดค่ะ ในเวลานั้นมีคนพูดว่าถือว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่คนที่มีอายุน้อยอย่างน้องสาวจะรอดมาได้ น้องสาวเติบโตมากับการได้รับฟังคำพูดจากทุกๆคนว่า “โชคดีแล้วที่รอดมาได้นะ โชคดีแล้วที่มีชีวิตอยู่นะ”

แต่ที่เท้าของน้องสาวนั้นเป็นแผลเป็นชนิดที่เนื้อปูดออกมาทำให้ผิดรูปไปจากปกติ น้องสาวจึงสวมใส่รองเท้าไม่ได้ จะต้องใส่รองเท้าแตะอยู่ตลอดเวลาน่ะค่ะ ซึ่งในยุคนั้น มีคนจำนวนมากที่ใส่รองเท้าแตะอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาในเวลาปกติ แต่จะลำบากก็ตอนไปทัศนศึกษาหรืองานแข่งขันกีฬาซึ่งใส่รองเท้าแตะไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใส่ถุงเท้าทหารทับกัน 2 ชั้นไปน่ะค่ะ  

น้องสาวต้องถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักโดยมีสาเหตุมาจากปัญหาที่เท้า ในยุคนั้น มีข่าวลือว่า โรคที่เกิดจากระเบิดปรมาณูนั้น สามารถที่จะติดต่อหากันได้ ทำให้มีคนที่ชี้มาที่น้องสาวแล้วพูดว่า “นิ้วจะเน่า” บ้าง “ถ้าเข้าไปดูใกล้ๆ จะติดต่อได้” บ้าง ถึงแม้ว่าเวลาก็ผ่านไปหลายปีหลังจากโดนทิ้งระเบิดปรมาณูและเมื่อน้องสาวเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมแล้ว ก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นของโชว์ ถึงกับทำให้มีคนเดินทางมาจากที่ไกลเพื่อที่จะมาชมเพื่อความเพลิดเพลินด้วย 

แต่น้องสาวไม่ได้บอกเรื่องที่ตัวเองถูกปฏิบัติจากคนอื่นแบบนี้ให้กับฉันและคุณย่ารู้เลย ไม่เพียงแต่จะไม่บอกเรื่องความทรมานของตัวเองเท่านั้น แต่น้องสาวกลับพูดว่า “คุณย่า หนูโชคดีใช่มั้ยที่มีชีวิตรอดน่ะ” เท่านั้น ฉันคิดว่า จากคำพูดที่ถูกพูดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้น้องสาวพยายามคิดว่า “ตัวเองโชคดีที่มีชีวิตรอด ดังนั้น ถึงแม้จะมีบาดแผลไฟไหม้แค่นี้ แต่ตัวเองก็ยังโชคดีที่มีชีวิตรอดมาได้” น่ะค่ะ เมื่อเร็วๆนี้เองที่ฉันไปเห็นบันทึกที่เขียนด้วยลายมือของน้องสาว ซึ่งตอนที่เห็นข้อความในนั้นที่เขียนว่า “คิดว่าในตอนนั้นการไม่มีชีวิตรอดน่าจะโชคดีกว่า” ทำให้ฉันกลับมาคิดใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า น้องสาวคงจะรู้สึกทรมานมากจริงๆสินะ 
เนื่องจากการผ่าตัดเท้านั้นจะต้องรอให้มีอายุถึง 15 ปีก่อนจึงจะทำได้ ดังนั้น จึงทำการผ่าตัดที่รอคอยมานานในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนในขณะที่เรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย น้องสาวพูดด้วยความสนุกสนานอยู่เสมอเลยว่า เมื่อเข้าเรียนที่มัธยมปลายแล้วจะได้ใส่รองเท้าแล้ว แต่ในที่สุดเท้าของน้องสาวก็ไม่ได้ทำให้ใส่รองเท้าได้ มีการปลูกถ่ายผิวหนังจากท้องกับก้น เพื่อพยายามแก้ไขเท้าที่ผิดรูปแล้ว แต่ผิวหนังที่ถูกปลูกถ่ายไปนั้นมีการเปลี่ยนสีเป็นสีดำ นิ้วก้อยที่เท้าก็ยังคงเลื่อนไปประมาณ 3 เซนติเมตรเท่าเดิมอยู่น่ะค่ะ น้องสาวที่เคยพูดเอาไว้ก่อนผ่าตัดว่า “จะสามารถใส่รองเท้ากีฬาได้”นั้น ปัจจุบันซึ่งผ่านมาแล้ว 65 ปี ก็ยังไม่อาจสวมใส่รองเท้าได้ตามปกติเลย

เนื่องจากนิ้วก้อยบวมและเจ็บ จึงต้องเจาะรูที่รองเท้ากีฬาก่อนจึงจะสวมใส่ได้ แต่มาคราวนี้ บริเวณที่เจาะรูกลับบวมจนทำให้กลายเป็นแผลขึ้นมาอีกน่ะค่ะ เท้าของน้องสาวนั้น แทบจะไม่มีวันไหนเลยที่เลือดจะไม่ออก และถ้ามีเลือดติดก็อาจทำให้ทุกคนรู้สึกสกปกได้ จึงได้นำเอายาสีฟันมาทาตรงบริเวณที่มีเลือดติดอยู่ด้วยน่ะค่ะ
น้องสาวบอกว่า ในขณะที่น้องสาวพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลระเบิดปรมาณู ก็ได้รู้จักกับคุณหมอฮาราดะโทมิน และพูดกับน้องสาวว่า “หากมีเรื่องอะไรที่อยากจะปรึกษาก็บอกได้ทุกเวลาเลยนะ” น้องสาวจึงไปปรึกษากับคุณหมอฮาราดะในช่วงที่จะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปราย และคุณหมอก็แนะนำให้รู้จักกับนักบวชชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ที่ลอสแอนเจลิส ในตอนนั้นบิดาก็เสียไปตั้งแต่ก่อนที่น้องสาวจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมปลายแล้ว ทางบ้านของเราจึงไม่มีเงินเพียงพอน่ะค่ะ แต่ก็ได้ครูที่โรงเรียนมัธยมปลายช่วยแนะนำสถานที่ที่จะไปทำงานพิเศษให้ น้องสาวจึงตั้งใจทำงานหนักจนกระทั่งสามารถเก็บเงินค่าตั๋วเครื่องบินได้เที่ยวเดียวเมื่อตอนอายุ 20 ปีและก็บินไปประเทศอเมริกา

น้องสาวได้รับความช่วยเหลือจากนักบวชในเรื่องที่พักและก็หารายได้จากการทำงานที่ร้านซักผ้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพน่ะค่ะ คิดว่าคงจะลำบากมากในหลายๆด้านนะคะ แม้แต่ตอนนี้เธอก็ยังใช้ชีวิตอยู่ที่ลอสแอนเจลิสค่ะ ดูเหมือนกับว่า เจ้าตัวจะคิดว่า ตัวเองคงจะแต่งงานตามปกติไม่ได้แล้ว แต่กลับได้แต่งงานกับคนญี่ปุ่นที่อยู่ที่นั่นและมีลูกด้วยกัน 3 คนค่ะ

●เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โอซาก้า
ช่วงเวลาหลังจากที่น้องสาวผ่าตัดเท้าไปแล้ว 1 สัปดาห์พอดี ฉันได้ไปหาเพื่อนที่อาศัยอยู่ที่โอซาก้ามาน่ะค่ะ น้องสาวบอกว่า “อาการป่วยของฉัน มันคงที่แล้วน่ะ พี่สาวไปเที่ยวเถอะนะ”

นั่งรถไฟกึ่งด่วนไปก็เลยไปถึงช่วงเย็น แต่ไม่รู้ว่าบ้านของเพื่อนอยู่ที่ไหน จึงไปสอบถามที่ป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ๆนั้น ซึ่งเป็นตำรวจที่ยังอายุน้อยอยู่ค่ะ แต่ก็มีน้ำใจช่วยออกหาบ้านของเพื่อนกับฉันเกือบจะชั่วโมงได้ จนกระทั่งหาบ้านของเพื่อนเจอ และตอนที่ฉันบอกว่า “ขอบคุณมากที่ช่วยนะคะ” จากนั้นก็เป็นครั้งแรกที่ตำรวจคนนี้ถามฉันกลับมาว่า “มาจากที่ไหนเหรอครับ” พอฉันตอบกลับไปว่าจาก “ฮิโรชิม่า” ค่ะ ทันใดนั้น เขาก็ก้าวขาถอยกลับไป 1 ก้าว และพูดว่า “ใช่ฮิโรชิม่าที่มีระเบิดปรมาณูเหรอครับ” พอฉันตอบไปว่า “ใช่ค่ะ” เขาก็พูดออกมาว่า “ผมรู้สึกขยะแขยงผู้หญิงจากฮิโรชิม่า ผู้หญิงที่โดนระเบิดปรมาณูน่ะ” ด้วยสีหน้าเหมือนกับว่าฉันจะเอาแบคทีเรียมาติดแบบนั้นเลยน่ะค่ะ ซึ่งก่อนหน้านั้น ตัวเองไม่เคยคิดอะไรกับการที่โดนระเบิดมาก่อน จึงรู้สึกช็อกที่สุดเลยค่ะ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เล่าให้น้องสาวฟังนะคะ แต่ได้เล่าให้เพื่อนที่โอซาก้าฟังค่ะ เพื่อนคนนั้นบอกว่า “ถ้าน้องสาวได้ยินเรื่องแบบนี้ มันน่าสงสารเกินไป ดังนั้นไม่ควรจะบอกน้องสาวโดยเด็ดขาด” หลังจากนั้น ฉันเองก็พยายามไม่บอกคนอื่นว่า ตัวเองเป็นคนที่มาจากฮิโรชิม่าเหมือนกันค่ะ

●เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ร้านเสื้อผ้า
เป็นเรื่องราวตอนที่ฉันกำลังต้อนรับลูกค้าที่ร้านเสื้อผ้าเมื่อหลายสิบปีที่แล้วค่ะ จู่ๆก็มีคนที่ไม่เคยรู้จักพูดชื่อของน้องสาวแล้วก็ถามฉันว่า “ใช่พี่สาวหรือเปล่าคะ” พอฉันถามกลับไปว่า “ใช่ค่ะ ทราบได้อย่างไรคะ” คนๆนั้นอาศัยอยู่ที่ฟุรุเอะแต่ ข่าวของน้องสาวนั้น ไปไกลถึงที่นั่นด้วยน่ะค่ะ

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในครั้งนี้หรือที่เกิดขึ้นที่โอซาก้า และที่ผ่านมาก็ยังมีเรื่องราวเกิดขึ้นอีกตั้งมากมาย ทำให้ฉันเห็นด้วยกับการไปอเมริกาของน้องสาวค่ะ หากต้องการจะไปจากญี่ปุ่นที่มีการกลั่นแกล้งหรือความลำเอียง อยากจะไปอยู่ในที่ดินที่ไม่รู้จักเรื่องราวของตัวเองอย่างสิ้นเชิงล่ะก็ ฉันคิดว่า นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้น้องสาวมีความสุขๆได้น่ะค่ะ

●ความปรารถนาในสันติภาพ
ความเจ็บปวดที่แท้จริงของผู้ถูกระเบิดปรมาณูนั้น คิดว่าคนที่ไม่เคยเจอกับตัวเองจริงๆคงไม่มีทางเข้าใจได้น่ะค่ะ แม้แต่นิ้วก็เช่นกันค่ะ ถ้านิ้วของตัวเองโดนตัดถึงจะรู้ถึงความเจ็บปวดได้ แต่ถ้านิ้วของคนอื่นโดนตัดก็คงไม่รู้สึกอะไรหรอกใช่มั้ยคะ ดังนั้นจึงคิดว่าการส่งผ่านให้คนอื่นรับรู้จึงเป็นสิ่งที่ยากจริง ๆ นะคะ

สงครามคือแผลที่เกิดขึ้นมาจากก้นบึ้งของจิตใจค่ะ มันไม่ได้มีแต่แผลภายนอกเท่านั้นแต่มันจะทำให้เกิดเป็นแผลที่ตกค้างอยู่ และถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีแล้ว แต่แผลนั้นก็ยังคงสร้างความเจ็บปวดอยู่นะคะ น้องสาวจะรังเกียจเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามและเรื่องราวที่เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูมาก ถ้ามีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ทีไร น้องสาวจะต้องหายตัวแวบไปจากตรงนั้น เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กแล้วค่ะ ตั้งแต่น้องสาวย้ายไปอยู่ที่อเมริกา น้องสาวมักจะใส่ถุงน่องเข้มๆเพื่อปกปิดแผลอยู่ตลอดเวลา โดยไม่พูดถึงระเบิดปรมาณูโดยสิ้นเชิง

จะต้องไม่ทำสงครามโดยเด็ดขาดนะคะ

 
 

ห้ามนำรูปภาพหรือข้อความที่มีอยู่ในโฮมเพจนี้ไปลงหรือใช้ในที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
HOMEに戻る Top of page
Copyright(c) Hiroshima National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims
Copyright(c) Nagasaki National Peace Memorial Hall for the Atomic Bomb Victims
All rights reserved. Unauthorized reproduction of photographs or articles on this website is strictly prohibited.
初めての方へ個人情報保護方針
日本語 英語 ハングル語 中国語 その他の言語